ผมมีโอกาสเข้าอบรมเพื่อการเข้าใจความเป็นมนุษย์ ผ่านกระบวนการละคร จำนวน 3 หลักสูตร คือ หลักสูตรที่ 1 ละครเพื่อการเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ (สนใจอ่าน คลิกที่นี่) หลักสูตรที่ 2 ละครกระบวนการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (สนใจอ่าน คลิกที่นี่) และหลักสูตรที่ 3 พัฒนาเครือข่ายนักสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้ผมมีโอกาสได้เรียนรู้กับ รศ.พรรัตน์ ดำรุง (ครูอุ๋ย) อาจารย์จากภาควิชาศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
ครูอุ๋ยได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับ “ละครนอกกรอบ” ว่าคือการนำบางช่วง / บางส่วนของการฝึกฝนนี้มาใช้กับคนสามัญ โดยใช้ละครเป็นกิจกรรม หรือกระบวนการ (Drama process) และการสร้างละครบางฉาก บางตอนที่ล้วนมีจุดมุ่งหมาย เพื่อนำพาให้ผู้ที่มีส่วนร่วม (Participant) ไม่ว่าในบทบาทของผู้แบ่งปันเรื่องราว ผู้แสดง ผู้ชม ต่างเป็นผู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนวิพากษ์ มีส่วนร่วมในการออกความคิด ค้นหาแนวทางในการสร้างเรื่องราว ขบคิดปัญหา ลงมือทำ และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนำเสนอเรื่องราวเพื่อสื่อสาร ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็น และลงมือทำการพัฒนาสร้างความเปลี่ยนแปลง ที่ทำให้เกิดประสบการณ์ให้เหนือไปจากแค่การรับชม (Viewing)
จากประเด็นนี้ทำให้ผมเกิดความคิดที่ว่า หากการสื่อสารด้วยละครมันทำให้สื่อสารกับผู้อื่นได้ง่าย ๆ แล้วทำไมเราไม่นำกระบวนการละครมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน
Augusto Boal นักการละครและนักเคลื่อนไหวที่ใช้ละครเป็นสื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม โดยการสร้างการสื่อสารพูดคุยระหว่างนักแสดงกับผู้ชม ที่สร้างกลวิธีที่จะเกิดการปฏิสัมพันธ์ โต้ตอบ และมีส่วนร่วมระหว่างผู้แสดงละครกับผู้ชม (Spectator) ทำให้เส้นที่แบ่งระหว่างผู้ชมกับเวทีทลายลงไปได้ ผู้ชม นักแสดง (Spect-actor) ในละครของผู้ถูกกดขี่ (Theatre of the oppressed) ที่ Boal พัฒนาให้ผู้ชม (Spectator) ได้เข้ามามีส่วนร่วม ให้คนที่ไม่รู้จักการแสดงเลยได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ โดยวิถีการฝึกฝนของ Boal คือ สร้างกลวิธีในการทำงานกับคนธรรมดา ๆ ที่ไม่เคยรู้จักการแสดง ให้สามารถเล่าเรื่องและแบ่งปันความคิด แบ่งปันประสบการณ์ และวิพากษ์ วิจารณ์เรื่องราวละครที่เขาได้ชม โดยครูเป็นผู้ตั้งคำถาม ชักชวนให้เกิดการแสดงความเห็น สะท้อนความรู้สึก และโต้แย้งอย่างเป็นรูปธรรมจนทำให้การเสวนาพัฒนาไปได้
ด้วยวิถีของ Boal ผ่านกระบวนการละคร ที่ผมต้องพิสูจน์ ว่าสามารถพัฒนาความเป็นมนุษย์ได้จริงขนาดนั้นเชียวหรือ ผมจึงได้นำกระบวนการละครมาใช้ที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงกับลูกศิษย์ของเราได้หรือไม่
กิจกรรมการเรียนรู้เพื่อ “รู้จักตัวเรา” ของละครประยุกต์ - เริ่มจากการสำรวจตัวเราเอง การกำหนดลมหายใจ มีสมาธิ มีสติสัมปชัญญะ รู้เท่าทันความคิด ควบคุม ทำให้ช้าลง ฟังมากขึ้น
- ฝึกแลกเปลี่ยนการฟัง เล่าเรื่องและแบ่งปันประสบการณ์
- ส่งเสียงพูด ในวงกลมที่เท่าเทียม (Focus/Trust/Respect) - สนุกน้อยลง / คิดถึง-แจกแจงปัญหามากขึ้น จริงจัง และพัฒนาการแตกประเด็น การมีพื้นที่ขบคิดเรื่องที่สนใจ อยากติดตาม - Space / Time / Collaborative
การที่เราจัดหลักสูตรให้กับนักศึกษา เราได้เคยคิดหรือไม่ว่าคือสิ่งที่พวกเขาสนใจจริง ๆ เรากำลังกดทับ กดขี่ลูกศิษย์อยู่หรือไม่ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิดการสร้างสรรค์ ร่วมจิตร่วมใจ ในเรื่องราวที่กลุ่มให้ความสนใจและใส่ใจ
หากระบวนการที่จะพัฒนาความคิดให้ชัดเจน หากแก้ปัญหาไม่ตก ลองช่วยกันขบคิด การสื่อสาร จะนำสู่การเปิดวงสุนทรียสนทนา (Dialogue) ที่ต้องกล้าออกจาก Comfort Zone ซึ่งหลายครั้งผมมักได้ยินเสมอว่าพื้นที่ไม่อำนวยในการทำวง Dialogue ตัวผมเองก็พบกับห้องเรียนที่ไม่เอื้อต่อการจัดวงสุนทรียสนทนาอยู่บ่อยครั้ง แต่เราต้องรู้จักปรับตัว แม้ห้องเรียนไม่อำนวย ก็ต้องรู้จักประยุกต์ใช้ อย่างห้องที่ออกแบบในลักษณะ Lecture based เราก็ต้องรู้จักเป็น Facilitator เพื่อประยุกต์ให้เกิด Discussion group ให้จงได้
ที่ผู้เรียนต้องสวมบทบาทสมมุติเป็นผู้อื่น และสิ่งที่คุณครูจากมะขามป้อมได้สอนพวกเราทั้ง 3 หลักสูตร เป็นกระบวนการที่คุณครูได้ลองผิด ลองถูก ผ่านประสบการณ์มาแล้วทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับใครจะนำสิ่งเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้อย่างไรในบริบทของตนเอง
นอกจากเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง ผมจึงขอเปลี่ยนแปลงตัวเอง ด้วยการเป็นครูละคร เพื่อการเข้าใจความเป็นมนุษย์ ตามวิถีแบบ “มะขามป้อม” |